Skip to content Skip to footer

ในชีวิตประจำวัน เราอาจอยากเลือกตัดส่วนที่ไม่ชอบออกไป เหมือนกับการเขี่ยวัตถุดิบที่ไม่ถูกใจออกจากจานอาหาร แต่ในชีวิตจริงกลับไม่ง่ายแบบนั้น 

เช่นเดียวกับ ‘พิมอรอุรชา เชาวนาศิริ’ ทรานส์เจนเดอร์ชาว Gen Z จากจังหวัดชัยภูมิ พ่วงตำแหน่งนักแสดงคาบาเรต์ที่พัทยา เธอกำลังโอบอุ้มอัตลักษณ์หลากหลายที่ไม่อาจตัดทิ้งได้ เพราะทุกส่วนประกอบหลอมรวมให้คนๆ หนึ่ง เติบโตมาอย่างเข้มแข็งได้ถึงทุกวันนี้

ชีวิตของพิม

“พิมโชคดีหน่อย ครอบครัวรับรู้ว่าเราเป็นทรานส์ตั้งแต่เด็ก พ่อแม่น่าจะคุยกันเองและยอมรับในความหลากหลายของลูก เราเลยไม่ค่อยเจอปัญหาเรื่องการเป็น LGBTQ+ ตอนเด็ก” 

เราได้ย้อนเวลากลับไปฟังเรื่องราวในวัยเด็กของพิม เด็กธรรมดาที่เติบโตมาพร้อมจิตใจของผู้หญิง และครอบครัวที่ยิ้มรับความหลากหลาย ราวกับว่าถูกหวยแต่จ่ายด้วยสุขภาพใจที่แข็งแรง อีกทั้งผู้ใหญ่บ้านใกล้เรือนเคียงก็ต่างเอ็นดูเธอ แม้ในช่วงประถมและมัธยม เธอจะต้องเผชิญกับคำพูดเหยียดเพศ จากความเข้าใจที่ยังจำกัดในยุคนั้น แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยตัวเอง

เมื่อชีวิตมาถึงจุดที่หลายคนตั้งตารอคอย การเข้ามหาวิทยาลัยเปรียบเสมือนการปลดปล่อยความเป็นตัวเอง หลังความเก็บกดในช่วงวัยมัธยม พิมเลือกเรียนเอกการแสดง เธอตัดสินใจได้ดีไม่น้อย ด้วยสังคมภายในเอกที่มีความเป็นกันเอง สนุกสนาน แถมยังเปิดรับทุกความหลากหลาย 

“ช่วงปี 4 เราคุยกับเพื่อนว่าจะทำละครเวทีเกี่ยวกับการลดทอนคุณค่าและการด้อยค่าของกลุ่ม LGBTQ+ ในอาชีพคาบาเร่ต์โชว์ ซึ่งหลายคนมักคิดถึงเมื่อพูดถึง LGBTQ+ และทรานส์เจนเดอร์ เราจึงเลือกคาบาเร่ต์โชว์เป็นส่วนหนึ่งของละคร เพื่อเล่าเรื่องปัญหาดังกล่าวในสังคมคาบาเร่ต์โชว์ที่มีการบูลลี่กันเอง

“เราสัมภาษณ์พี่ๆ นักแสดงโชว์ที่พัทยา เกี่ยวกับประเด็นการบูลลี่ในสังคม พวกเขาบอกว่าเรื่องนี้มีจริงและค่อนข้างรุนแรง มีการแข่งกันทั้งด้านความสามารถและความสวย โดยเฉพาะการได้เป็นตัวร้อง ซึ่งเหมือนการเป็นซูเปอร์สตาร์ในวงการนี้เลย”

พิมนำประเด็นการลดทอนคุณค่าและการด้อยค่ากันเองในกลุ่มทรานส์ LGBTQ+ ผ่านอาชีพคาบาเร่ต์โชว์ มาสร้างเป็นธีสิสจบอย่างน่าสนใจ เธอเปิดเผยเรื่องราวที่ไม่มีใครคาดคิดว่าพื้นที่ที่มีกลุ่มถูกสังคมกดทับเรื่องอัตลักษณ์ กลับมีกลไกการกดทับกันเองภายในอีกชั้นหนึ่ง

ความ(ไม่)ลับในคาบาเรต์โชว์

“เพราะทำละครเกี่ยวกับคาบาเร่ต์และเพิ่งเรียนจบ เราเลยอยากลองต่อยอดสิ่งที่เรียนมาดู ตอนแรกก็ไม่ได้ชอบมาก แค่อยากลองสมัคร เรามีทักษะการเต้นอยู่แล้ว

“ใช้เวลาช่วงว่างงานไปลองออดิชั่น มีการเต้น ร้อง โชว์ความสามารถ คิดว่าติดก็ดี ไม่ติดก็ไม่เป็นไร แต่ฟลุ๊คติดพอดี เลยทำงานจนตอนนี้ครบ 1 ปีแล้ว”

ตัวละครในธีสิสวันนั้น กลายเป็นบทบาทในชีวิตจริงของพิมวันนี้ การเลือกงานแรกของเธอเริ่มจากการลอง ปัจจุบันพิมทำงานแสดงคาบาเร่ต์มาครบหนึ่งปี และกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่สองอย่างรวดเร็ว แม้ไม่ได้คาดคิดว่าจะมาบรรจบตรงนี้

พิมทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน ในทุกวันจันทร์ถึงพุธจะมีการซ้อมตอนบ่าย 2-3 โมง จากนั้นนักแสดงทุกคน ทั้งนักแสดงนำ (ตัวร้อง) และนักแสดงสมทบ (ลูกคู่) จะเริ่มแต่งหน้าและขึ้นโชว์ 4 รอบต่อวัน ได้แก่ 17:00 น., 18:30 น., 20:00 น., และ 21:30 น. ซึ่งแต่ละรอบประกอบด้วย 5 เพลง โดยมีตัวร้อง 1-3 คน และลูกคู่เต้นประกอบในโชว์รวม 

ทั้งหมดคือตารางชีวิตของนักแสดงโชว์คาบาเร่ต์ พิมเผยกับเราว่าการทำงานวนลูปแบบนี้ แม้ผู้ชมจะสนุก แต่ผู้แสดงกลับเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าเบื่อ เราต้องเต้นเพลงเดิมๆ ซ้ำๆ ไปมาทุกสัปดาห์ 

ภาพในหัวกับงานที่เจอ

ก่อนเข้ามาทำงานคิดว่าเป็นยังไง?

“เราคิดแค่ว่าคือการโชว์ทรานส์ โชว์คาบาเร่ต์ปกติ ต้องเวอร์วัง มีขนนก มีแสงไฟ” 

พอเข้ามาแล้วเป็นยังไง?

“สำหรับเรางานไม่ซับซ้อนมาก เพราะคุ้นเคยกับศาสตร์นี้อยู่แล้ว แต่ความยากคือการเป็นตัวนำหรือตัวร้อง ใช้สิ่งที่เรียนด้านละครมาปรับเยอะ โดยเฉพาะการลิปซิงค์ ที่ต้องทำให้คนดูเชื่อว่าเราร้องเพลงจริงๆ ต้องใส่อินเนอร์หนักมาก เราต้องสร้างตัวละครใหม่ขึ้นมาเลย ในจุดนั้นเราต้องไม่ใช่พิม ซึ่งทั้งยาก เหนื่อยและใช้พลัง”

กว่าจะได้เป็นตัวร้องตำแหน่งที่หลายคนหมายปอง ทุกคนต้องเริ่มจากการเป็นลูกคู่ก่อน ผู้ใหญ่จะคัดเลือกจากแววการแสดง โดยต้องฝึกร้อง ฝึกเต้น และโชว์ให้โดดเด่น ราวกับกำลังถูกแมวมองจับตา แต่พิมกลับเผยถึงมุมมองความคิดที่ต่างออกไป ระหว่างตัวเธอและรุ่นพี่ที่ชินกับระบบเดิม

“การเป็นตัวร้องเหนื่อยมาก แม้ว่าแสงจะสาดใส่เราจริง แต่ค่าตอบแทนกลับเท่ากับคนอื่น ทั้งที่เราเหนื่อยกว่ามาก ได้แสงและความป็อปปูล่า แต่มันกินไม่ได้ สำหรับพิม เงินคือสิ่งสำคัญที่สุด แล้วทำไมต้องรับบทที่หนักกว่าแต่ไม่ได้อะไรเพิ่ม

“รุ่นพี่เจนอื่นที่โตกว่า เขาจะมองว่าเราทิ้งโอกาส แต่พิมกลับคิดว่าชื่อเสียงจะนำไปสู่อะไรต่อ แถมบางเรื่องในที่ทำงานก็ไม่เมคเซนส์ เช่น วันจันทร์-พุธ ต้องมาซ้อมเร็วกว่าปกติ แต่ไม่ได้ OT ทั้งที่เต้นสี่รอบก็เหนื่อยแล้ว รุ่นพี่มองว่าการซ้อมเป็นเรื่องปกติของงานโชว์ แต่การมาซ้อมก็ควรมีค่าตอบแทนเพิ่ม”

Gen Z มันเลิศจะตาย

“ประเด็นช่วงวัยในที่ทำงานมันต้องเจออยู่แล้ว เราทำงานในพื้นที่ที่มีความหลากหลาย ต้องปล่อยผ่านให้เป็น ไม่ต้องปะทะกับคนรุ่นอื่นทุกเรื่องขนาดนั้น แม้จะมีความเอ๊ะในหัวบ้าง แต่ก็ไม่ต้องล้มเลิกความเป็นตัวเอง มันเลิศจะตาย Gen Z”

Gen Z มีความมั่นใจสูง ไม่อดทน ยึดแค่ความคิดตัวเอง? เรื่องดราม่าประจำปีคงไม่พ้น ‘Gen Z’ รุ่นที่ถูกมองว่าทำงานร่วมด้วยยาก มีเงื่อนไขเยอะ พิมก็เป็นหนึ่งในวัยนี้ แต่กลับทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างราบรื่น เธอแยกแยะชัดเจน งานคืองาน ความคิดส่วนตัวคือความคิดส่วนตัว และระบบก็ต้องเป็นระบบ 

แม้ในที่ทำงานจะมี Gen X และ Y ที่ยกย่องการเป็นตัวร้องราวกับเป็นดาวเด่นของโรงละคร และเกิดการแข่งขันเพื่อแย่งชิงการยอมรับ 

“ในคาบาเร่ต์จะมีสิ่งที่เรียกว่า การลงถ่ายรูป กิจกรรมนี้มักมีเหตุให้คนทะเลาะกันอยู่บ่อยครั้ง ถ้าการแสดงจบจะมีการถ่ายรูปกับแขก ซึ่งจะเก็บเงินรูปละ 100 บาท ทำให้มีการแก่งแย่งกัน เคยมีคนถ่ายรูปอยู่แล้วถูกแย่งแขกไปเลย เพื่อจะได้ผลประโยชน์ที่มากกว่าคนอื่น” 

ถือเป็นความรู้ใหม่ไม่น้อย สำหรับคนที่ไม่เคยชมคาบาเร่ต์ ราวกับว่าเพศหญิงมีสงครามนางงานฉันใด คาบาเร่ต์โชว์ก็มีสงครามทิฟฟานี่ฉันนั้น

พิมโชคดีที่เพื่อนร่วมงานไม่มีปัญหาภายในหรือการกดขี่ระหว่างทรานส์อย่างที่หลายคนเคยคาดคิด แม้เรื่องราวเหล่านี้จะเคยเกิดขึ้นจริงจากการสัมภาษณ์เพื่อทำบทละครสมัยเรียน แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ความขัดแย้งเหล่านี้ลดลง ทุกคนในที่ทำงานต่างเป็นมิตรและต้อนรับน้องใหม่อย่างอบอุ่น

ทรานส์ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางเพศ

“แผนกอื่นๆ ในบริษัทที่เขาไม่ได้เป็น LGBTQ+ เราไม่แน่ใจว่าเขาคิดยังไงกับเรา แต่สัมผัสได้ถึงความไม่เป็นมิตร เหมือนเขาไม่ค่อยอยากยุ่งกับเรา แต่กลุ่มนักแสดงด้วยกันเอง ทุกคนเข้าใจกันดีในการถูกกดทับเรื่องเพศ ทำให้แทบไม่มีการบูลลี่เกิดขึ้น”

แม้ความเข้าใจเรื่องเพศระหว่างทรานส์และ LGBTQ+ จะไม่ใช่ปัญหาใหญ่แล้ว แต่ยังคงมีบางกลุ่มที่ไม่ยอมรับกันอย่างแท้จริง และบางครั้งยังมีการบูลลี่ผ่านสายตา พิมเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ระหว่างการถ่ายรูปกับแขกที่บางคน โดยเฉพาะชาวต่างชาติ แสดงพฤติกรรมล้อเลียนท่าทางของกลุ่ม LGBTQ+ ราวกับไม่ยอมรับความเป็นคนด้วยกัน ทั้งที่โลกหมุนผ่านกาลเวลามานานนับพันปี

ให้มันจบที่เจนเรา

คำแนะนำที่อยากมอบให้กับ Gen Z ที่กำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต ในฐานะที่เราเป็นเด็กจบใหม่และเข้าสู่วัยทำงานแล้ว?

“อย่ากลัวที่จะเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ เราเป็น Gen Z จงเชื่อมั่นในตัวเอง และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อใคร” 

เสียงจากพิม พี่สาวเจนเนอเรชัน Z ที่อยากส่งต่อกำลังใจให้คนรุ่นเดียวกัน ท่ามกลางข้อครหาที่ถาโถมราวกับชาติก่อนทำภารกิจกู้โลกไม่สำเร็จ จนถูกกดดันมาถึงชาตินี้ พิมสนับสนุนให้ทุกคนผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบาก กล้าลองทำสิ่งที่ฝัน และเชื่อว่าประสบการณ์ใหม่รออยู่ หากเราก้าวข้ามความกลัวไปได้ 

โปรดอย่าเขี่ยตัวตนของตัวเองทิ้ง เหมือนกับการเขี่ยผักในจานข้าว เพราะทุกส่วนประกอบทำให้คนคนหนึ่ง เติบโตมาได้อย่างน่าชื่นชม เช่นเดียวกับเรื่องราวของพิม 

เรื่อง: เนตรนภา ก๋าซ้อน

What's your reaction?
0Smile0Angry0LOL0Sad1Love

Add Comment

About IGDN*

เครือข่ายความหลากหลายทางเพศเป็นองค์กรภาคประชาสังคมในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ สร้างเครือข่าย และผลักดันนโยบาย ในประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศ ความเท่าเทียมและความเป็นธรรมระหว่างเพศในพื้นที่อีสาน

Contacts
About IGDN

เครือข่ายความหลากหลายทางเพศเป็นองค์กรภาคประชาสังคมในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ สร้างเครือข่าย และผลักดันนโยบาย ในประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศ ความเท่าเทียมและความเป็นธรรมระหว่างเพศในพื้นที่อีสาน

Contacts
IGDN.or.th © 2025. All Rights Reserved.